วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)


ชีวประวัติ ซิกมุนด์ ซาโลมอน ฟรอยด์ เกิด ณ เมืองไฟรเบิร์ก (Freiberg) รัฐโมราเวีย (Moravia) ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1856 เวลา 18.30 น. เป็นชาวยิว มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน บิดาชื่อจาคอบ คาลลามอน ฟรอยด์ (1815-1896) เป็นพ่อค้าเสื้อผ้าขนสัตว์ ย้อมสีและส่งขายที่เมืองกาลิเซีย และซื้อสินค้าจากกาลิเซียกลับมาขายที่ไฟรเบิร์ก มีฐานะปานกลาง ฟรอยด์เป็นลูกคนหัวปีของจาคอบกับภรรยาคนที่สาม อมาลี ฟรอยด์ (ภรรยาคนแรกและคนที่สองชื่อ แซลลี แคนเนอร์ และรีเบคก้า ตามลำดับ ทั้งสองเสียชีวิตก่อนที่จาคอบจะแต่งงานกับอมาลี) เมื่ออายุ 4 ขวบบิดาย้ายครอบครัวไปอยู่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เขาเข้าเรียนจบวิทยาศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเวียนนาเมื่อ ค.ศ. 1873 วิทยฐานะนี้ประกอบอาชีพมีรายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว จึงไปศึกษาแพทย์ศาสตร์ต่อหลังจากที่ได้ฟังคาร์ล บรูเอล (Carl Bruhl) อ่านความเรียงของเกอเต้เกี่ยวกับธรรมชาติ ซึ่งทำให้ฟรอยด์เกิดความซาบซึ้งใจเป็นอย่างมาก ประกอบกับฟรอยด์มีความนิยมชมชอบชาร์ลส์ ดาร์วิน (1809 - 1882) อยู่แล้ว ทำให้ฟรอยด์ตัดสินใจกลับเปลี่ยนมาเรียนแพทย์แทนกฎหมายในทันที ระหว่างเรียนฟรอยด์ได้เสนอวิจัยวิทยาศาสตร์เชิงชีววิทยาสองชิ้นในปี 1875 และ 1876 งานวิจัยทั้งสองชิ้นได้รับรางวัลจากกระทรวงศึกษาธิการแต่ฟรอยด์กลับคิดว่างานวิจัยทั้งสองยังไม่ดีพอ ฟรอยด์จึงเบนเข็มไปยังสถาบันสรีรศาสตร์ ที่มี เอิร์นสต์ วิลเฮล์ม วอน บรักเก้ (Ernst Wilhelm Von Brucke) เป็นผู้อำนวยการ ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่ฟรอยด์เอ่ยปากว่าเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเขาเป็นอย่างมาก ฟรอยด์ใช้เวลาหลายปีศึกษาอยู่ที่สถาบันสรีรศาสตร์ก่อนจะหยุดพักไปเป็นทหารในกองทัพออสเตรีย-ฮังการี อยู่ 1 ปี และกลับมาสอบรับปริญญาแพทย์เมื่อปี 1881 ช่วงปี 1885 ฟรอยด์ได้รับทุนจากโรงเรียนแพทย์ในฐานะผู้บรรยายวิชาประสาทวิทยาไปดูงานที่ปารีส โดยไปดูงานที่โณงพยาบาลซาลเปตริแอร์ (Salpetriere) ในช่วงเดือนตุลาคม 1885 ถึงกุมภาพันธ์ 1886 โดยอยู่ในความดูแลของซอง มาร์แตร์ ชาร์โกต์ (Jean-Martin Charcot) ซึ่งเชี่ยวชาญในการรักษาฮิสทีเรียด้วยวิธีสะกดจิต และส่งผลให้ฟรอยด์เกิดความสนใจทางด้านสะกดจิต ก่อนที่ฟรอยด์จะได้เข้ารับการศึกษาทางด้านสะกดจิตเพิ่มเติมในโรงเรียนแนนซี่ (Nancy Shcool) ที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่ง ต่อมาฟรอยด์ได้มีโอกาสร่วมงานกับ โจเซฟ บรูเออร์ (Josef Breuer : 1842 - 1925) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทที่คบหากันมานาน บรูเออร์ได้รักษาผู้ป่วยรายหนึ่งในนามแฝงว่า “แอนนา - โอ” นามจริงคือ เบอร์ธา พาพ์เพ็นไฮม์ ทั้งคู่มีข้อสมมติว่าการเจ็บป่วยของแอนนา – โอ มาจากปัญหาเรื่องเซ็กส์ของเธอเอง อันมาจากการต้องคอยดูแลพยาบาลบิดาที่ป่วยหนัก หลังจากที่บิดาเสียชีวิตลง เธอก็เริ่มมีอาการอัมพาตที่แขนและขา มีการมองเห็น การพูดที่ผิดแปลกไป (jargon) บุคลิกภาพแตกออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งรู้ตัวเป็นปกติ มีอารมณ์เศร้าโศก แต่อีกส่วนไม่รู้ตัว วุ่นวาย และมีประสาทหลอนทางตา ฟรอยด์ได้มีโอกาสร่วมสังเกตอาการเจ็บป่วยของแอนนา – โอ นานพอควรและได้พบกับสิ่งสำคัญโดยบังเอิญ กล่าวคือ เมื่อแอนนา – โอ ถูกสะกดจิตเธอจะย้อนทวนความจำในรายละเอียดของสถานการณ์ อันเป็นต้นเหตุของอาการโรคและเสริมให้อาการโรคกำเริบและแสดงให้เห็นอารมณ์ที่เก็บกดไว้ เมื่อระบายอารมณ์เก็บกดนั้นออกไป อาการฮิสทีเรียก็หายไป บรูเออร์และฟรอยด์รักษาแอนนา – โอ ด้วยการสะกดจิตอยู่นานประมาณ 2 ปี และเธอก็ดีขึ้น ฟรอยด์ได้อ่านรายงานผู้ป่วยอันละเอียดลออที่บรูเออร์ทำและใช้วิธีคาธาร์ซิส (Catharsis) ตามที่บรูเออร์บอกกับผู้ป่วยรายอื่นๆและเขียนเป็นรายงานชื่อว่า “การศึกษาฮิสทีเรีย” (Studies on Hysteria) และว่ากันว่าเป็นงานที่จุดประกายต่อวิชาจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) เลยทีเดียว จากนั้น ฟรอยด์ก็ได้ติดต่อกับวิลเฮล์ม ไฟลส์ (Wilhelm Fliess) ทางจดหมายและได้ปรึกษาหารือกันเป็นประจำ โดยมีคำใหม่ๆแปลกๆอย่างการเก็บกด (repression) การใส่โทษผู้อื่น (projection) หรือการเสแสร้งแต่งจิต (reaction formation) ซึ่งไฟลส์ไม่เข้าใจ และค่อยๆกลายความแน่นแฟ้นลงเรื่อยๆ สาระสำคัญในจดหมายเหล่านั้นคือสาระหลักที่เป็นจุดเริ่มต้นของจิตวิเคราะห์ (The Origin of Psycho-Analysis) ฟรอยด์ประสบปัญหาเมื่อแนวคิดในการใช้การสะกดจิตแบบชาร์โกต์และจิตบำบัดแบบฟรอยด์ (Freudian Psychotherapy) ไม่เป็นที่ยอมรับจากสมาคมแพทย์แห่งเวียนนา ขณะประสบปัญหานี้ฟรอยด์ได้พบกับความคิดอย่างใหม่ คือ ปมอิดิปัส (The Oedipus Complex) และยิ่งทำให้ฟรอยด์ถูกต่อต้านมากยิ่งขึ้นเพราะมีเนื้อหาที่หมิ่นเหม่ศีลธรรมและยากเกินความเข้าใจ ช่วงปี 1889 ฟรอยด์ค้นพบทฤษฎีและวิธีแปลความฝัน (The Interpretation of Dream) โดยเกี่ยวข้องกับจิตใต้สำนึก (Unconscious) และทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ด้วยความที่ฟรอยด์มีแนวทางในการสำรวจจิตใต้สำนึกของตนเองก่อนถึงจะเอาไปใช้ทำความเข้าใจจิตใต้สำนึกของผู้ป่วยด้วยวิธีการที่หลากหลาย ตั้งแต่เทคนิคคาธาร์ซิสของบรูเออร์, การสะกดจิตผู้ป่วยแบบชาร์โกต์ จนในที่สุดฟรอยด์ก็ได้พัฒนาเป็นวิธีใหม่ที่เรียกว่า “วิธีการเชื่อมโยงอย่างอิสระ” (Free Association) จนนำไปสู่การวิเคราะห์ตนเอง (Self Analysis) ในที่สุด ฟรอยด์ได้ก่อตั้งชมรมวันพุธ โดยมีผู้มีชื่อเสียงหลายคนเข้าเป็นสมาชิกและได้กลายเป็นสมาคมจิตวิเคราะห์ในที่สุด รวมถึง คาร์ล กุสตาฟ จุง (Carl Gustav Jung : 1875 - 1961) ซึ่งได้กลายมาเป็นศิษย์ที่สนิทกับฟรอยด์มากที่สุด ต่อมาเกิดความขัดแย้งกันระหว่างฟรอยด์กับจุง โดยที่ฟรอยด์มีความคิดไปในทางวิทยาศาสตร์อย่างเคร่งครัด แต่จุงกลับมีความคิดไปในทางศาสนา คาถาอาคมและไสยศาสตร์ลึกลับ จึงทำให้จุงแยกตัวจากฟรอยด์ออกมาตั้งสำนักของตนเองชื่อว่า อนาไลติก ไซโคโลยี่ (Analytic Psychology) หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เริ่มขึ้น ฟรอยด์อาศัยข้อมูลจากสังคมและสงครามมาใช้เป็นข้อมูลในการทำงาน จนเมื่อปี 1915 ฟรอยด์ได้ตีพิมพ์รายงานวิชาการชื่อ metapsychology รวมทั้งงานชื่อ The Moses of Michael Angelo (1913) และ Totem and Taboo (1914) ด้วย ฟรอยด์ได้กล่าวถึงสัญชาติญาณแห่งความตาย (Death Instinct : Thanatos) และสัญชาติญาณของการมีชีวิต (Life Instinct : Eros) ไว้ในงานที่มีชื่อว่า Beyond the Pleasure Principle (1920) โดยมีเนื้อหาหลักที่ว่ามนุษย์มีศักยภาพแห่งการทำลายล้างในตนเอง และในปีถัดมาก็ตีพิมพ์งานอีกชิ้น คือ Group Psychology and the Analysis of the Ego (1921) ต่อมาในปี 1923 ฟรอยด์ได้เสนอสาระอันใหม่เอี่ยมต่อวงการวิชาแพทย์และจิตวิทยาในสมัยนั้นด้วยแนวคิดโครงสร้างของจิตใจในแบบของฟรอยด์ในงานเขียนชื่อ The Ego and the Id ซึ่งอธิบายว่าโครงสร้างทางจิตของมนุษย์นั้นแบ่งได้เป็นสามส่วน ได้แก่ Id Ego และ Super Ego การทำงานที่กลมกลืนหรือขัดแย้งกันของโครงสร้างทั้งสามนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มของพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ ปี 1938 กองทัพนาซียกกองกำลังเข้ามาในเวียนนา ทำให้มารี โบนาปาร์ต (Marie Bonaparte) เจ้าหญิงกรีซ และเออร์เนส โจนส์ แร่งรัดให้ฟรอยด์หนีภัยสงคราม และในที่สุดฟรอยด์ก็ได้ตัดสินใจอพยพหนีสงครามไปลอนดอน ประเทศอังกฤษ ฟรอยด์เสียชีวิตในวันที่ 23 กันยายน 1939 ณ บ้านเลขที่ 20 มาเรสฟิลด์ การ์เด้น นครลอนดอนนั่นเอง

2 ความคิดเห็น:

  1. ผมว่าควรจะมีการย่อหน้าบ้างนะครับ

    ตอบลบ
  2. จากที่อ่านจาก คาร์ลยุง ความคัดแย้งเป็นเรื่องที่ว่าด้วย ฟรอยด์ยึดมั่นทฦษฎีเรื่องเพศ จนเหมือนจะยกเป็นศาสดาของตนดั่งที่ฟรอยด์ไม่เชื่งเรื่องศาสนาแต่ทำประกนึ่งจะตั้งทฦษฏีของตนเป็นศาสนา และยังคิดว่ายุงคิดร้ายต่อตน. อีกทั้งทั้งสองเป็นเพื่อนกันไม่ใช่ครูศิษย์ อันนี้สงสัยมากค่ะเพราะอ่านแต่งานของยุง ใครทราบช่วยตอบหน่อยนะค่ะ

    ตอบลบ